วันพุธที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ น. พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรมุนี วิ., กรรมการมหาเถรสมาคม,เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสถาบันวิปัสสนาธุระ เป็นประธานในพิธีปิด พร้อมมอบวุฒิบัตร แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ “หลักสูตรการฝึกอบรมอัยการผู้ช่วย” รุ่นที่ ๖๒ (สนามเล็ก) จำนวน ๙๗ คน
ในการจัดโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ อารมณ์และพฤติกรรมบนพื้นฐานของศีล สมาธิ ปัญญา อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดีต่อการดำรงตนและการปฏิบัติงานอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรมมีความซื่อสัตย์สุจริต เสริมสร้างการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ในการนี้ พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรมุนี วิ., กรรมการมหาเถรสมาคม,เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสถาบันวิปัสสนาธุระ ได้กล่าวให้โอวาทในการทำงานร่วมกันโดยใช้หลักอิทธิบาท๔และสังคหวัตถุ ๔ มีใจความสำคัญ ว่า
ในฐานะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ แนวคิดเพื่อการทำงานให้มีความสุขตามวิถีพุทธศาสนาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันมาก คือการนำ “ธรรมะ”หรือ “หลักธรรมของพระพุทธศาสนา” มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่พึงประสงค์ ในแบบที่แต่ละคนต่างรู้หน้าที่ของตนเอง ช่วยให้บรรยากาศในองค์กรเป็นมิตรและเกิดความร่มเย็นเป็นสุข เนื่องจากประสบความสำเร็จในการทำงานด้วยกันทุกคนทั้งผู้บริหาร เจ้าของกิจการ หัวหน้า และผู้ลงมือปฏิบัติ
ดังนั้น ธรรมะที่เหมาะสมสำหรับผู้ปฏิบัติงาน คือ “อิทธิบาท 4” ซึ่งหมายถึง ธรรมแห่งความสำเร็จ ประกอบด้วย
ฉันทะความพอใจ หมายถึง ผู้ปฏิบัติงานต้องชอบหรือศรัทธางานที่ทำอยู่ และมีความสุขกับงานที่ได้รับมอบหมาย
วิริยะ ความพากเพียร ผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีความขยันหมั่นเพียรในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งหมั่นฝึกตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จิตตะ ความเอาใจใส่ หมายถึง ผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีจิตใจหรือสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำ รวมถึงมีความรอบคอบและความรับผิดชอบในงานที่ทำอย่างเต็มสติกำลัง
วิมังสา ความหมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผลในงานที่ทำ ทำงานด้วยปัญญา ด้วยสมองคิด รวมถึงเข้าใจในงานอย่างลึกซึ้ง ทั้งในแง่ขั้นตอนและผลสำเร็จหรือผลสัมฤทธิ์ของงาน
“งาน” ทุกอย่างไม่สามารถทำสำเร็จด้วยคนเพียงคนเดียว หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจซึ่งกันและกัน ธรรมะที่เหมาะสมสำหรับการทำงานร่วมกัน คือ “สังคหวัตถุ 4″หมายถึง หลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวนำใจของผู้อื่น ผูกไมตรีและเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ได้แก่
ทาน การให้ การเสียสละ การเอื้อเฟื้อแบ่งปันของๆ ตนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว และการให้ที่ยิ่งใหญ่คือการให้อภัย
ปิยวาจา การใช้วาจาประสานไมตรี การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดหยาบคาย ก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับกาลเทศะ ดังนั้น การทำงานร่วมกันจะต้องพูดหรือปรึกษาหารือกันโดยยึดถือหลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ 1.เว้นจากการพูดเท็จ 2.เว้นจากการพูดส่อเสียด 3.เว้นจากการพูดคำหยาบ และ4.เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือต้องพูดหรือเจรจากันด้วยไมตรีและความปรารถนาดีต่อกัน
อัตถจริยา หรือ ร่วมสร้างสรรค์อุดมการณ์ การปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เพราะการทำงานร่วมกันต้องช่วยเหลือกันด้วยกำลังกาย กำลังความคิด และกำลังใจ
สมานัตตา หรือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ ประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย ผู้ทำงานร่วมกันทุกคนจะต้องไม่ถือตัว มีความเสมอภาค วางตนเสมอต้นเสมอปลาย ทำตนให้เป็นที่น่ารัก น่าเคารพ นับถือ และน่าให้ความร่วมมือช่วยเหลือ
หลักธรรมที่ใช้ในการทำงานที่กล่าวมา ทั้งอิทธิบาท 4และสังคหวัตถุ 4 เป็นเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวที่ปฏิบัติกันอยู่แล้วในฐานะปัจเจกชน แต่ยังขาดความเข้มข้นเอาจริงเอาจัง หากทุกคนสามารถปฏิบัติได้พร้อมกับทำหน้าที่ของตนเต็มกำลังความสามารถอย่างสมบูรณ์ย่อมสร้างบรรยากาศในการทำงาน ในแบบงานสัมฤทธิ์ ชีวิตรื่นรมย์ได้อย่างแน่นอน.
“ส่วนวางแผนและพัฒนาการอบรม สถาบันวิปัสสนาธุระ”