ส่วนงานวางแผนและพัฒนาการอบรม สถาบันวิปัสสนาธุระ ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย และสถาบันภาษา มจร จัดโครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนิสิตบัณฑิตศึกษา Online ผ่านโปรแกรม Zoom และสาธยายพระไตรปิฎก Online ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ระหว่างวันที่ ๙ – ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๔
         เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. ได้สาธยาย “พระอภิธรรมปิฏก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์” Online โดยพระมหาวริทธิ์ธร วรเวที รักษาการผู้อำนวยการส่วนวางแผนและพัฒนาการอบรม และคณะสงฆ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๔

          พระอภิธรรมปิฎก (บาลี: Abhidhammapi?aka) เป็นปิฎกฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามใน “พระไตรปิฎกภาษาบาลี” (Pali Canon) อภิธรรม แปลว่า “ธรรมอันยิ่ง” ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก “พระอภิธรรมปิฎก” ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วน ๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย

ประวัติ
คำสอนของพระพุทธเจ้า เดิมเรียกว่า “ธรรมวินัย” ทั้งหมด ยังมิได้แยกเป็นปิฎกสามปิฎก ดังพระพุทธวจนะว่า “ธรรมและวินัยใดที่เราตถาคตแสดงไว้แล้วบัญญัติไว้แล้ว ธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอเมื่อเราตถาคตล่วงลับไปแล้ว”ต่อมาในการสังคายนาครั้งที่สามในศาสนาพุทธ พระธรรมวินัยได้รับการแบ่งแยกออกเป็นปิฎกสามปิฎก คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก         อรรถกาอัตถสาลินี อันเป็นอรรถกาที่อธิบายคัมภีร์สังคณีแห่งพระอภิธรรมปิฎก และอรรถกาธัมมปทัฏฐกถา อันเป็นอรรถกถาที่อธิบายคัมภีร์ธรรมบทแห่งพระสุตตันตปิฎก ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จขึ้นไปเทศน์พระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 หลังจากทรงตรัสรู้ และได้ทรงถ่ายทอดพระอภิธรรมนั้นแก่พระสารีบุตรในเวลาต่อมา

สำนวนในการเขียนพระอภิธรรมปิฎกเป็น “ภาษาหนังสือ” แตกต่างจากสำนวนภาษาในพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก จึงมีผู้สันนิษฐานว่าพระอภิธรรมปิฎกนี้เป็นของแต่งขึ้นใหม่ภายหลัง

องค์ประกอบ
สำหรับพระอภิธรรมปิฎกนั้นแบ่งออกเป็นเจ็ดคัมภีร์ ซึ่งเรียกย่อว่า สํ. วิ. ธา. ปุ. ก. ย. และ ป. ตามลำดับ ประกอบไปด้วย
1. สังคณี หรือธัมมสังคณี (เรียกโดยย่อว่า “สํ.”) – รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภท
2. วิภังค์ (เรียกโดยย่อว่า “วิ.”) – ยกหมวดธรรมขึ้นตั้งเป็นหัวข้อเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด
3. ธาตุกถา (เรียกโดยย่อว่า “ธา.”) – สังเคราะห์หรือจัดประเภทข้อธรรมต่าง ๆ เข้าเป็นหมวดเป็นหมู่ดังต่อไปนี้ คือ ขันธ์ อายตนะ และธาตุ
4. ปุคคลบัญญัติ (เรียกโดยย่อว่า “ปุ.”) – บัญญัติความหมายบุคคลประเภทต่าง ๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่
5. กถาวัตถุ (เรียกโดยย่อว่า “ก.”) – แถลงและวินิจฉัยทัศนะที่ขัดแย้งกันของนิกายต่าง ๆ ในสมัยสังคายนาครั้งที่ 3 โดยเน้นความถูกต้องของฝ่ายเถรวาท คัมภีร์นี้เป็นบทนิพนธ์ของพระโมคคลีบุตรติสสเถระ
6. ยมกะ (เรียกโดยย่อว่า “ย.”) – ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ ๆ
7. ปัฏฐาน หรือมหาปกรณ์ (เรียกโดยย่อว่า “ป.”) – อธิบายปัจจัย 24 และแสดงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมทั้งหลายอย่างละเอียด